บทความข่าวสาร

หน้าแรก  »  Travel   »   วัดมหาธาตุ สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย

วัดมหาธาตุ สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย

วัดมหาธาตุ สุโขทัย เป็นวัดที่สร้างตามความเชื่อในเรื่องจักรวาลแบบอินเดียโบราณ เป็นวัดใหญ่ที่สำคัญของกรุงสุโขทัย สร้างขึ้นในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย มีกำแพงและคูน้ำล้อมรอบ ด้านหน้าของวัดท่านสามารถเห็นพระประธานและเจดีย์ประธานของวัด เจดีย์ประธานทรงยอดดอกบัวตูม สะท้อนถึงความรุ่งเรืองแห่งอาณาจักรสุโขทัยในอดีต ภายในบริเวณล้อมรอบ ประกอบด้วย วิหาร มณฑป โบสถ์ และ เจดีย์ราย มากถึง 200 องค์ วิหาร 10 แห่ง ซุ้มพระ (มณฑป) 8 ซุ้ม พระอุโบสถ 1 แห่ง ตระพัง 4 แห่ง พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร

นอกจากนี้ยังเคยมี พระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่อยู่นามว่า พระศรีศากยมุนี ด้านหลังพระวิหาร แสดงถึงเอกลักษณ์ของศิลปะสุโขทัยแท้บริสุทธิ์ สะท้อนถึงความสามารถและภูมิปัญญาของชาวสุโขทัย

ประวัติ วัดมหาธาตุ สุโขทัย

วัดมหาธาตุ เป็นวัดประจำอาณาจักรสุโขทัย สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยตอนต้นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์  หลักฐานจากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ 1 ใน พ.ศ.1835 (หลักที่ 1 ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 23-26)
โดยในหลักศิลามีข้อความที่กล่าวถึงว่า “กลางเมืองสุโขทัยนี้ มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารศ มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ พระพุทธรูปอันราม ที่วัดมหาธาตุ”


พระเจดีย์มหาธาตุเป็นเจดีย์ประธานของวัด ภายในวิหารหลวง ทางด้านทิศตะวันออกของเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดแบบสุโขทัยที่มีหน้าตักกว้างถึง 6.25 เมตร ข้อความบางตอนจากศิลาจารึกกล่าวถึงพระพุทธรูปองค์นี้ หลักที่ 5 จาก ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ใน พ.ศ. 1940 (หลักที่ 5 ด้านที่ 3 บรรทัดที่ 8-13) มีข้อความที่กล่าวถึงว่า “เมื่อแล้วออกพรรษา จึงกระทำมหาทานฉลองพระสัมฤทธิ์อันหล…ตนพระพุทธเจ้าเราอันประดิษฐานกลางเมืองสุโขทัย ซึ่งลวงตะวันออกพระศรีรัตนมหาธาตุนั้น ฉลองดับธรรมทุกวัน ถ้วนร้อยวัน” ดังนั้นวัดมหาธาตุจึงเป็นจุดศูนย์รวมทั้งงานด้านศิลปกรรม และ สถาปัตยกรรมที่สำคัญที่สุดของเมืองสุโขทัย มีรูปโฉมพรรณอันงามพิจิตรงดงาม

ภายในบริเวณวัดมหาธาตุ สุโขทัย มีการค้นพบจารึกจำนวน 3 หลัก

จารึกหลักแรก คือ ศิลาจารึกปู่ขุนจิดขุนจอด เป็นอักษรไทยสมัยสุโขทัย อยู่ที่บริเวณริมเสาเบื้องขวาหน้าวิหารหลวง ด้านหลังวิหารสูง พ.ศ.1935
จารึกหลักที่สอง คือ ศิลาจารึกเจดีย์น้อย เป็นอักษรไทยสุโขทัย-ขอมสุโขทัย และ ภาษาไทย-สันสกฤต อยู่ที่เจดีย์น้อย ด้านหน้าเจดีย์ 5 ยอด คาดว่าน่าจะอยู่ในราวๆ พุทธศตวรรษที่ 20-21
จารึกหลักที่สาม คือ ศิลาจารึกลานทองสมเด็จพระมหาเถรจุฑามุนี เป็นอักษรไทยสุโขทัย-ล้านนา และ ภาษาไทย-บาลี อยู่ที่ฐานพระประธานในพระอุโบสถ พ.ศ.1919

นอกจากนี้ ศิลาจารึกวัดศรีชุมมีข้อความบางตอนบันทึกเชิงประวัติโบราณสถานถึงกรุงสุโขทัย ใน พ.ศ.1884  (หลักที่ 2 ด้าน 2 บรรทัดที่ 21-35)  มีใจความว่า
“พระศรีราชาจุฬามุนีเป็นเจ้าพยายามให้แผ้วแล้วจึงก่ออิฐขึ้นเจ็ดวา  สทายปูนแล้วบริบวรณพระธาตุหลวงก่อใหม่เก่าด้วยสูงได้ร้อยสองวาขอมเรียกพระธมนั้นแล๐ สถิตครึ่งกลางนครพระกฤษณ์๐ เมื่อจักสทายปูนในกลางป่านั้นหาปูนยากหนักหนา หาปูนมิได้  พระศรีราชจุฬามุนีเป็นเจ้า จึงอธิฐานว่าดังนี้…กูแลยังจักได้ตรัสแก่สรรเพญุเดญาณเป็นพระพุทธจริงว่าไซร์  จงให้พบปูน  ครั้นกูอธิฐานบัดแมงแห่งหั้นดายกลายพบโป่งปูน อนึ่งทายาดหนักหนา เอามาสทายพระธาตุ  ก่อใหม่เก่าแล้วเอามาต่อพระพุทธรูปหินอันหักอันพังบริบวรณแล้ว ปูนก็ยังเหลือเลย๐  พระมหาธาตุหลวงนั้นกระทำปาฏิหารอัศจรรย์หนักหนา  และพระธาตุอันใหญ่ล้อมหลายแก่กม๐ ก่อทั้งมหาพิหารใหญ่ด้วยอิฐอันเสร็จบริบวรณแล้ว จึงไปสีบค้นหาเอาพระพุทธรูปหินเก่าแก่แต่บูราด้วยไกล ชั่วสองสามคืน เอามาประดิษฐานไว้ในมหาพิหารลางแห่งได้คอได้ตน ลางแห่งได้ผมได้แขนได้อก ลางแห่งได้หัวตกไกล แลสี่คนหาม เอามาจึงได้๐ ลางแห่งได้แข้งได้ขา ลางแห่งได้มือได้ตีนย่อมพระหินอันใหญ่ ชักมาด้วยล้อด้วยเกวียน เข็นเข้าในมหาพิหารเอามาต่อติดประกิตด้วยปูนมีรูปโฉมพรรณอันงามพิจิตรดังอินนิรมิตเอามาประกิตชนเป็นตนพระพุทธรูป อันใหญ่ อันถ่าว อันราม งามหนักหนา เอามาไว้เต็มในมหาพิหารเรียงหลายถ่อง ช่องงามหนักหนาแก่กม…”

วัดมหาธาตุเป็นวัดที่สำคัญและเป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ที่สุดของเมืองสุโขทัย ตั้งอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นจุดศูนย์รวมทั้งงานด้านศิลปกรรม และ สถาปัตยกรรมในสมัยสุโขทัยที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เป็นวัดใหญ่ที่มีพระเจดีย์มหาธาตุทรงดอกบัวตูม เจดีย์ประธาน ล้อมรอบด้วยเจดีย์ 8 องค์ศิลปะแบบสุโขทัยแท้

สถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ

[pt_view id=”895a54a3t0″]

 

©2014-2021 ROYAL-TH.CO ALL RIGHTS RESERVED.